รู้ไหม? อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ แตกต่างกันอย่างไร

25 พฤษภาคม 2564 เวลา 18:53 / ผู้เข้าชม : 74,234 ภูมิศาสตร์
รู้ไหม? อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ แตกต่างกันอย่างไร

           ต่อเนื่องจากข้อมูลข้อมูลชื่อที่เหมือนกันของ 2 ทวีปนี้ ... ซึ่งเกิดจากชื่อคนของทวีปอเมริกา ... รู้ไหม อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ แตกต่างกันอย่างไร น้องดีไซน์ จะพาทุกคนไปดูความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ... แต่ชื่อเหมือนกันจนบางคนเข้าใจผิด คิดว่าเหมือนกัน น้องดีไซน์อาสาหาคำตอบ แบบอินไซน์ เทียบกันให้เห็นชัดๆ เข้าใจง่ายๆ ติดตามได้เลยนะครับ

ทวีปอเมริกาเหนือ 
 

ทวีปอเมริกาเหนือ เป็นดินแดนที่มีลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบกว้างใหญ่ เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน การประกอบอาชีพ เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวผิวขาวที่มีการศึกษาดี ทำให้ทวีปอเมริกาเหนือได้รับการพัฒนา เจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว

 

ทวีปอเมริกาใต้

ทวีปอเมริกาใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางซีกโลกใต้   เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีที่ราบเฉพาะเขตชายฝั่งและลุ่มแม่น้ำ  ภูมิอากาศมีทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น   ซึ่งเหมาะแก่การดำรงชีวิต  จึงเป็นทวีปที่มีประชากรอาศัยอยู่มากแห่งหนึ่งของโลก   แต่เนื่องจากความแตกต่างทางด้านสังคม การเมือง และปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของประชากร   ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งๆที่อยู่ใกล้ชิดติดต่อกับทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นทวีปที่พัฒนาและเจริญก้าวหน้ามากในทุกๆด้าน
 

ทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งอยู่ทางซีกโลกเหนือ ระหว่างละติจูดที่ 7 - 83 องศาเหนือ และลองจิจูดที่ 55 องศาตะวันตก - 172 องศาตะวันออก 
 

ทิศเหนือ ติดต่อกับมหาสมุทรอาร์กติก ทะเลโบฟอร์ต อ่าวแบฟฟิน อ่าวฮัดสัน ช่องแคบเดวิส ทะเลแลบราดอร์ เกาะขนาดใหญ่ได้แก่ เกาะกรีนแลนด์ เกาะแบฟฟิน เกาะวิกตอเรีย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก เกาะสำคัญด้านนี้ ได้แก่ เกาะนิวฟันด์แลนด์ เกาะเบอร์มิวดา หมูเกาะบาฮามาส
ทิศตะวันตก ติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก ตอนเหนือมีช่องแคบเบริง กั้นระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกาเหนือ น่านน้ำสำคัญได้แก่ อ่าวแคลิฟอร์เนีย อ่าวอะแลสกา เกาะใหญ่ได้แก่ เกาะแวนคูเวอร์ หมู่เกาะอาลิวเชียน หมู่เกาะควีนชาร์ล็อต 
ทิศใต้ ติดต่อกับทวีปอเมริกาใต้ น่านน้ำสำคัญคือมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโกในมหาสมุทรแอตแลนติก เกาะสำคัญคือ หมู่เกาะอินดิสตะวันตก หมู่เกาะคิวบา ฮิสแปนิโอลา จาเมกา เปอร์โตริโก

ทวีปอเมริกาเหนือ มีขนาดใหญ่เป็นที่ 3 รองจากทวีปเอเชีย และแอฟริกา รูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม มีฐานทางด้านเหนือ ความกว้างของทวีปตั้งแต่ช่องแคบเบริง ถึงเกาะนิวฟันด์แลนด์ ส่วนที่แคบที่สุด คือคอคอดปานามา 

 

ทวีปอเมริกาใต้ ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดประมาณ 12-56 องศาใต้ และลองจิจูดประมาณ 34-81  องศาตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางซีกโลกใต้ มีพื้นที่ส่วนน้อยที่อยู่ทางซีกโลกเหนือ 

 

ทิศเหนือ ติดต่อกับทวีปอเมริกาเหนือ ทะเลแคริบเบียน และมหาสมุทรแอตแลนติก  เกาะที่สำคัญทางตอนเหนือของทวีป ได้แก่ เกาะตรินิแดด เกาะโตเบโก 
ทิศตะวันออก ติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศใต้ ติดต่อกับช่องแคบเดรค (Drake Passage) ซึ่งเป็นน่านน้ำที่คั่นทวีปอเมริกาใต้กับทวีปแอนตาร์กติกา  เกาะใหญ่ทางใต้สุด คือ เกาะเตียร์ราเดลฟิวโก (Tierra del Fuego) โดยมีช่องแคบแมกเจลแลนด์คั่นกับแผ่นดินใหญ่ เกาะฟอล์กแลนด์ของอังกฤษ ซึ่งเป็นเกาะที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก และคลองปานามา เกาะสำคัญทางตะวันตก ได้แก่ หมู่เกาะกาลาปากอส 
 

ลักษณะภูมิประเทศของทวีปอเมริกาเหนือ

ลักษณะภูมิประเทศของทวีปอเมริกาเหนือ สามารถแบ่งได้เป็น 4 เขต คือ

 

1. เขตเทือกเขาสูงทางด้านตะวันตก CR : kapook

 ได้แก่บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนกันหลายแนว ซึ่งเกิดจากการโก่งตัวของหินเปลือกโลกที่มีอายุน้อยเป็นแนวต่อเนื่อง ตั้งแต่บริเวณช่องแคบเบริงลงมาจนถึง ประเทศปานามา และมีแนวต่อเนื่องไปจนถึงทวีปอเมริกาใต้ เทือกเขาสำคัญในเขตนี้ ได้แก่ เทือกเขาอะแลสกา มียอดเขาแมกคินเลย์ สูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ เทือกเขารอกกี เทือกเขาแคสเกด เทือกเขาเซียราเนวาดา เทือกเขาเซียรามาเดร เทือกเขาชายฝั่ง
 


2. เขตที่ราบภาคกลาง CR : kapook

เป็นเขตที่ราบใหญ่มี 6 เขต ดังนี้

2.1 ที่ราบลุ่มแมกเคนซี เป็นที่ราบแคบๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำ เขตหินเก่า อากาศหนาวเย็น มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
2.2 ที่ราบแพรรีในแคนาดา บริเวณมณฑลมานิโตบา ซาสเคตเชวันและ แอลเบอร์ตา เป็นแหล่งปลูกข้าวสาลีที่สำคัญของโลก
2.3 ที่ราบลุ่มทะเลสาบทั้ง 5 และลุ่มแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ ทะเลสาบทั้ง 5 ได้แก่ ทะเลสาบสุพีเรีย ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทะเลสาบมิชิแกน ฮูรอน อีรี ออนตาริโอ เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูก มีการขนส่งทางน้ำที่สำคัญที่สุดในโลก มีประชากรหนาแน่น
2.4ที่ราบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี และมิสซูรี เป็นที่ราบดินตะกอน มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แม่น้ำมิสซิสซิปปี เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของอเมริกาเหนือ มีสาขาสำคัญหลายสาย ได้แก่มิสซูรี โอไฮโอ เทนเนสซี อาร์คันซอส์
2.5ที่ราบชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกและมหาสมุทรแอตแลนติก ได้แก่ บริเวณทางด้านตะวันออก ของเทือกเขาแอปปาเลเชียน ลงไปทางใต้จนถึงชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก เหมาะแก่การปลูกพืชเมืองร้อน
2.6ที่ราบบนที่สูงได้แก่บริเวณด้านตะวันออกของเทือกเขารอกกี เป็นเขต เงาฝน ไม่เหมาะที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมประเภทที่ใช้น้ำมาก แต่เหมาะอย่างยิ่งที่จะปลูกข้าวสาลี

 

3.เขตหินเก่าแคนาดา CR : blockdit

ได้แก่บริเวณรอบอ่าวฮัดสันลงมาจนถึงทะเลสาบทั้ง 5 ประกอบด้วยหินเปลือกโลกเก่าแก่ มีอากาศหนาวเย็น ประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
 


4. เขตภูเขาด้านตะวันออก CR : kapook

เป็นภูเขาหินเก่า คือเทือกเขาแอปปาเลเชียน มียอดเขาสูงสุด ชื่อ มิตเชล

ลักษณะภูมิประเทศของทวีปอเมริกาใต้

ลักษณะภูมิประเทศ  แบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่


1) เขตเทือกเขาทางตะวันตก Cr : nisarat078
ทางด้านตะวันตกของทวีปซึ่งติดต่อกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มีเทือกเขาแอนดีส ซึ่งเป็นเทือกเขาที่มีภูเขาไฟที่ยังทรงพลังอยู่หลายลูก ทอดเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก จากเหนือสุดลงมาใต้สุด ตั้งแต่ปานามาเกาะเตียร์ราเดลฟิวโก  แนวเทือกเขานี้มีความยาวประมาณ 7,200 กิโลเมตร  นับเป็นเทือกเขาที่ยาวที่สุดในโลก และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำโอริโนโค และแม่น้ำแอมะซอน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญในทวีปอเมริกาใต้ มียอดเขาที่สูงที่สุด  ชื่อ อะคองคากัว (Acomcagua) สูงประมาณ 6,960  เมตรในประเทศอาร์เจนตินา เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือและใต้  ในเขตเทือกเขาแอนดีสช่วงที่เทือกเขาแยกตัวออกเป็น 2 แนว มีที่ราบสูงโบลิเวีย ซึ่งเป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ที่มีความสูงจากระดับมากเป็นที่สองของโลกรองจากที่ราบสูงทิเบต  และบนที่ราบสูงมีทะเลสาบสำคัญ ชื่อ  ทะเลสาบติติกากา  เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่ใช้เดินเรือได้ อยู่สูงที่สุดในโลก (3,810 เมตร)
 


2) เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ ประกอบด้วย Cr : noomauy25 
-ที่ราบลุ่มแม่น้ำโอริโนโค อยู่ทางตอนเหนือสุด มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาแอนดีส  ไหลผ่านที่ราบในเขตประเทศโคลัมเบีย และเวเนซูเอลา ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
-ที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน  เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ใหญ่และมีประมาณน้ำมากที่สุดของโลก  มีเนื้อที่ประมาณ 7 ล้านกิโลเมตร มีความยาวประมาณ 6,437 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 2 รองจากแม่น้ำไนล์ เป็นแม่น้ำที่ได้รับน้ำจากหลายสาขาที่มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาแอนดีส ที่ราบสูงกิอานาและที่ราบสูงบราซิล และไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกในเขตประเทศบราซิล
-ที่ราบลุ่มแม่น้ำปารานา-ปารากวัย-อุรุกวัย อยู่ทางใต้ของที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ในเขตประเทศปารากวัย อุรุกวัยและอาร์เจนตินา บริเวณที่แม่น้ำทั้ง 3 ไหลมาบรรจบกันมีลักษณะเป็นอ่าวใหญ่ เรียกว่า  ริโอเดลาพลาตา (Rio de la Plata)
 


3)เขตที่ราบสูงภาคตะวันออก ประกอบด้วย Cr : theworld05363
 -ที่ราบสูงกิอานา อยู่ในเขตประเทศเวเนซุเอลา เฟรนซ์เกียนา ซรินาเม กายอานาและภาคเหนือของประเทศบราซิล
-ที่ราบสูงบราซิล อยู่ทางด้านตะวันออกของทวีปในเขตประเทศบราซิล ระหว่างลุ่มแม่น้ำแอมะซอนกับลุ่มแม่น้ำปารานาและปารากวัย เป็นที่ราบสูงที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่มาก
-ที่ราบสูงโตกรอสโซ อยู่ทางตะวันตกของที่ราบสูงบราซิลในเขตประเทศบราซิลและโบลิเวีย
-ที่ราบสูงปาตาโกเนียเป็นที่ราบสูงเชิงเขาแอนดีส อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอาร์เจนตินา

ลักษณะภูมิอากาศของทวีปอเมริกาเหนือ

ทวีปอเมริกาเหนือ มีลักษณะอากาศที่แตกต่างกัน เนื่องจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยด้านที่ตั้ง อยู่ในเขตอากาศร้อนใกล้ศูนย์ศูตร จนถึงบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ ทำให้มีลักษณะอากาศแทบทุกประเภท 

2. ปัจจัยด้านลักษณะภูมิประเทศ มีแนวเทือกเขาสูงทางด้านตะวันตก ทอดตัวแนวเหนือใต้ เป็นกำแพงกั้นทางลมและความชื้นจากมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ดินแดนด้านหลังของเทือกเขารอกกี (ด้านตะวันออกของเทือกเขา) มีอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง เป็นทะเลทรายและทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย 

3. ปัจจัยด้านลมประจำ ลมประจำที่พัดผ่านทวีปอเมริกาเหนือแตกต่างกันตามช่วงละติจูดคือ ตั้งแต่ละติจูดที่ 40 องศาเหนือขึ้นไปทางทิศเหนือ จะได้รับลมประจำตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดมาจากมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้ฝนตกชุกบริเวณ ชายฝั่งตะวันตกของประเทศแคนาดา รัฐอะแลสกา ของสหรัฐอเมริกา สำหรับบริเวณ ใต้เส้นละติจูดที่ 40 องศาเหนือ จะได้รับลมตะวันออกเฉียงเหนือจากมหาสมุทรแอตแลนติก

4. ปัจจัยด้านกระแสน้ำ มีอิทธิพลต่อทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่ 
4.1 กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ไหลเลียบชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา จากทิศใต้ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
4.2 กระแสน้ำเย็นแลบราดอร์ ไหลเลียบชายฝั่งตะวันตกของเกาะกรีนแลนด์ มาพบกับกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม บริเวณนอกฝั่งตะวันออกของเกาะนิวฟันด์แลนด์
4.3 กระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนีย ไหลเลียบชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาลงมาจนถึงชายฝั่งมหาสมุทรแคลิฟอร์เนีย
4.4 กระแสน้ำอุ่นอะแลสกา ไหลเลียบชายฝั่งตะวันตกของรัฐอะแลสกา ขึ้นไปทางเหนือ จนถึงช่องแคบแบริง 
 

5. ระยะห่างจากทะเล ตอนเหนือของทวีปมีพื้นที่กว้างขวางมาก ตอนในของทวีปได้รับอิทธิพลจากทะเลเพียงเล็กน้อย ทำให้ตอนกลางของสหรัฐอเมริกาและแคนาดามีอากาศแห้งแล้ง พืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้า และทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย

6. พายุเฮอริเคน เป็นพายุเมืองร้อน เกิดในทะเลแคริบเบียน เคลื่อนที่เข้าสู่เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา พายุทอร์นาโด เกิดในบริเวณที่ราบภาคกลางของสหรัฐอเมริกา มีกำลังแรงมาก มีลักษณะเป็นกรวยเมฆสีดำคล้ายงวง สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน
 

 

ลักษณะภูมิอากาศของทวีปอเมริกาใต้

ลักษณะภูมิอากาศของทวีปอเมริกาใต้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

1.ที่ตั้ง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตละติจูดต่ำ ดังนั้นเกือบทุกประเทศอยู่ในเขตร้อน ยกเว้น อุรุกวัย  อาร์เจนตินา ชิลีที่อยู่ในเขตละติจูกลาง หรืออยู่ในเขตอบอุ่น

2.ลักษณะภูมิประเทศ มีเทือกเขาแอนดีสวางตัวอยู่แนวเหนือ-ใต้ขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก  จึงเป็นกำแพงขวางกั้นความชื้นและลมประจำที่พัดจากทะเล   ทำให้ดินแดนภายในทวีปบางบริเวณมีอากาศแห้งแล้ง เป็นเขตทุ่งหญ้าและทะเลทราย  ประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตละติจูดต่ำมีอากาศร้อน ยกเว้นบริเวณเทือกเขาและที่ราบสูงจะมีอุณหภูมิลดลงจะมีอากาศอบอุ่น เช่น โบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลัมเบีย ลาปาซ เมืองหลวงของประเทศโบลิเวีย

3.ลมประจำ พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้อยู่ในเขตลมสงบบริเวณศูนย์สูตร และเขตอิทธิพลของลมสินค้าตะวันออกเฉียงเหนือและลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ชายฝั่งตะวันออกของทวีปมีฝนตกชุก  แต่ลมนี้ไม่ได้นำความชื้นเข้าสู่พื้นที่ภายในทวีป

4.กระแสน้ำ กระแสน้ำเย็นเวสต์วินด์  ไหลมาจากแถบขั้วโลกผ่านเลียบชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ คือ ชายฝั่งทะเลของประเทศชิลีและเปรูเรียกว่า กระแสน้ำเย็นฮัมโบลต์ หรือกระแสน้ำเย็นเปรู ทำให้ชายฝั่งด้านนี้ในฤดูร้อนไม่ร้อนมากนัก ทางด้านตะวันออกมีกระแสน้ำอุ่นบราซิลและกระแสน้ำเย็นฟอล์กแลนด์ไหลผ่าน

ลักษณะอากาศของทวีปอเมริกาเหนือ
ทวีปอเมริกาเหนือ มีเขตอากาศที่แตกต่างกันดังนี้

 

1. เขตอากาศแบบป่าดิบชื้น (Tropical Rainforest Climate) ปรากฏบริเวณชายฝั่งตะวันออกของดินแดนทางตอนใต้ของอเมริกาเหนือ เม็กซิโก ปานามา มีฝนตกชุก อุณหภูมิสูง พืชพรรณธรรมชาติเป็นแบบป่าเมืองร้อน
2. ทุ่งหญ้าเขตร้อน (Tropical Grassland Climate) ได้แก่พื้นที่ส่วนใหญ่ของเม็กซิโก หมู่เกาะอินดิสตะวันตก อุณหภูมิในฤดูร้อนกับฤดูหนาวแตกต่างกันมาก มีฝนตกปานกลาง พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าโปร่งสลับกับทุ่งหญ้า เรียกว่าสะวันน่า (Savanna)
3.  เขตอากาศแบบทะเลทราย (Desert Climate) บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา และภาคเหนือของเม็กซิโก มีอุณหภูมิสูงมากในฤดูร้อน มีปริมาณฝนน้อย พืชพรรณธรรมชาติ ได้แก่พืชจำพวกตะบองเพชร และประเภทไม้มีหนาม
4. เขตทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย (Steppe Climate) ปรากฏทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา บางส่วนของแคนาดา เม็กซิโก ซึ่งอยู่บริเวณชายขอบทะเลทราย มีลักษณะอากาศกึ่งแห้งแล้ง ฤดูหนาวอากาศหนาวจัด พืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้าสั้น เรียกว่า สเต็ปป์ (Steppe)
5.เขตอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Climate) ปรากฏบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ตอนกลางรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ในฤดูร้อน อากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ฤดูหนาวอากาศอบอุ่นและมีฝนตก พืชพรรณธรรมชาติ เป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าไม้พุ่มเตี้ย เรียกว่า ป่าแคระ (Chaparral) 
6.เขตอากาศแบบชื้นกึ่งร้อน (Humid Subtropical Climate) ปรากฏบริเวณภาคกลาง ที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก มีลักษณะอากาศอบอุ่น ฝนตกตลอดปี ไม่มีฤดูแล้ง พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้ผลัดใบชนิดใบกว้าง และป่าสน
7.เขตอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก (Marine Westcoast Climate) ได้แก่บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งหันหน้าเข้ารับลมประจำตะวันตก ที่พัดมาจากมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ช่วงฤดูร้อน มีอากาศอบอุ่น ฤดูหนาวมีอากาศไม่หนาวจัด มีฝนตกสม่ำเสมอตลอดปี ไม่มีฤดูแล้ง ที่เด่นชัด พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้เขตอบอุ่น
8.เขตอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นทวีป (Humid Continental Climate) ปรากฏบริเวณทะเลสาบทั้ง 5 ตอนใต้ของแคนาดา ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา เป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำในฤดูหนาว ส่วนฤดูร้อนอุณหภูมิปานกลางถึงสูงมากเป็นช่วงที่ มีฝนตกชุก พืชพรรณธรรมชาติมีทั้งป่าไม้ผลัดใบชนิดใบกว้าง และป่าไม้ไม่ผลัดใบ ชนิดมีใบแหลม
9.เขตอากาศแบบไทกา (Taiga Climate) ได้แก่บริเวณรัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกา ภาคเหนือของประเทศแคนาดา มีลักษณะอากาศที่หนาวจัดเป็นระยะเวลายาวนาน มีหิมะตก ส่วนฤดูร้อนมีระยะสั้นอากาศค่อนข้างเย็น พืชพรรณธรรมชาติ เป็นป่าสน และป่าไม้เนื้ออ่อน
10. เขตอากาศแบบทุนดรา (Tundra Climate) ปรากฏบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติกของรัฐอะแลสกาและแคนาดา รวมทั้งชายฝั่งของเกาะนิวฟันด์แลนด์ ฤดูหนาวมีอากาศเย็นจัด พืชพรรณธรรมชาติเป็นตะไคร่น้ำและมอส
11.ลักษณะอากาศแบบทุ่งน้ำแข็ง (Ice-Cap Climate) คือดินแดนของเกาะ กรีนแลนด์ตอนกลาง มีอากาศหนาวจัด และมีน้ำแข็งปกคลุมตลอดปี พืชพรรณธรรมชาติไม่สามารถเจริญเติบโตได้เลย
12.ลักษณะอากาศแบบที่สูง (Highland Climate) อยู่ทางภาคตะวันตกของทวีป ในเขตภูเขาสูงนี้ อุณหภูมิ ความชื้น พืชพรรณธรรมชาติ เปลี่ยนไปตามความสูงของพื้นที่ ยิ่งสูงมากอากาศจะยิ่งเย็นจัด จนกระทั่งถึงมีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ตลอดเวลา

ลักษณะอากาศของทวีปอเมริกาใต้

ลักษณะภูมิอากาศของอเมริกาใต้ แบ่งออกเป็น 8 เขต

1.เขตภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น (Tropical Rainforest Climate) เป็นเขตที่มีอากาศร้อนและชุ่มชื้นตลอดปีพบในบริเวณเขตศูนย์สูตรแถบลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล พืชพรรณธรรมชาติ เป็น ป่าดิบ เรียกว่า ป่าเซลวาส (Selvas)
2.เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อนหรือสะวันนา (Savanan Climate) เป็นเขตที่มีอากาศร้อนตลอดปี มีฤดูแล้งสลับกับฤดูฝนพบในบริเวณลุ่มแม่น้ำโอริโนโคในประเทศโคลัมเบียและเวเนซุเอลา ที่ราบสูงกิอานาในประเทศเวเนซุเอลา ที่ราบสูงบราซิล พืชพรรณธรรมชาติ เป็น ทุ่งหญ้าและป่าโปร่งทุ่งหญ้าในเขตลุ่มแม่น้ำโอริโนโคและที่ราบสูงกิอานา เรียกว่า ทุ่งหญ้ายาโนส (Llanos)  ทุ่งหญ้าในเขตประเทศบราซิล เรียกว่า ทุ่งหญ้าแคมโปส  ทุ่งหญ้าทางตอนใต้ของบราซิล ปารากวัยและตอนเหนือของอาร์เจนตินา เรียกว่า ทุ่งหญ้ากรันชาโก
3.เขตภูมิอากาศแบบทะเลทราย (Desert Climate) มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่า 10 นิ้วต่อปี  ได้แก่ ทะเลทรายอะตากามา ทางชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในเขตประเทศเปรู และตอนเหนือของชีลี และทะเลทรายในเขตที่ราบสูงปาตาโกเนียทางตะวันออกของเทือกเขาแอนดีสในเขตประเทศอาร์เจนตินา
4.เขตภูมิอากาศแบบกึ่งทะเลทราย (Steppe Climate) ซึ่งอยู่ระหว่างเขตทะเลทรายกับเขตอบอุ่น มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่า 15 นิ้วต่อปี พบบริเวณตะวันออกของอาร์เจนตินาถึงที่ราบสูงปาตาโกเนียทางตอนใต้ พืชพรรณธรรมชาติ ทุ่งหญ้าสั้นๆ หรือทุ่งหญ้าสเตปป์
5.เขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Climate) มีอากาศร้อนแห้งแล้งในฤดูร้อน และมีอากาศอบอุ่นฝนตกในฤดูหนาวพบบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางของชิลี   พืชพรรณธรรมชาติ ไม้พุ่มมีหนาม ใบแหลมเรียวเล็ก เป็นมันเปลือกหนา เพื่อป้องกันการคายน้ำในฤดูร้อน
6.เขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น (Humid Subtropical Climate) มีอากาศอบอุ่นชุ่มชื้น ปริมาณน้ำฝนปานกลาง ประมาณ 750-1,500 มิลลิเมตรต่อปี  ได้รับอิทธิพลจากลมประจำที่พัดผ่านน่านน้ำนำกระแสน้ำอุ่นเข้าสู่ฝั่งพบบริเวณชายฝั่งตะวันออกของทวีป พืชพรรณธรรมชาติ  เป็นป่าผลัดใบ และบริเวณภายในมีปริมาณน้ำฝนน้อยลง พืชพรรณเป็นทุ่งหญ้ายาวเรียกว่า ทุ่งหญ้าปามปัส (Pampas) มีความสำคัญทางการเกษตรของประเทศปารากวัย อุรุกวัยและอาร์เจนตินา
7.เขตภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก (Marine Westcoast Climate) มีอากาศอบอุ่นชุ่มชื้นตลอดปี เพราะได้รับอิทธิพลจากลมประจำตะวันตก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 5,000 มิลลิเมตรต่อปี  พบบริเวณทางตอนใต้ของเขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนในประเทศชีลี พืชพรรณธรรมชาติ ป่าผลัดใบกับป่าสน
8.เขตภูมิอากาศแบบภูเขาสูง มีอากาศเปลี่ยนแปลงไปตามความสูงของพื้นที่พบบริเวณแถบเทือกเขาแอนดีส

 

Related content

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Copyrighted 2021. designlandclub. All Rights Reserved.
@ ART AD. DESIGN. 2021